Belgium, Kingdom of

ราชอาณาจักรเบลเยียม




     ราชอาณาจักรเบลเยียมเป็นประเทศขนาดเล็กและเป็น ๑ ใน ๓ ประเทศของกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ (Benelux) ในอดีตเบลเยียมเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ แต่ได้แยกตัวออกหลังจากเนเธอร์แลนด์ ประกาศเอกราชจากการปกครองของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg) สายสเปน ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖หลังสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars) ในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา(Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕) ได้รวมเบลเยียมเข้ากับเนเธอร์แลนด์ เพื่อเป็นรัฐกันชนมิให้ฝรั่งเศส ขยายอำนาจไปทางตอนเหนือและตะวันตกได้โดยง่ายต่อมา ชาวเบลเยียมได้ก่อการกบฏและสถาปนาประเทศเป็นราชอาณาจักรเอกราชมหาอำนาจต่างยอมรับรองเอกราชและความเป็นกลางของเบลเยียมตั้งแต่ ค.ศ.๑๘๓๙ แต่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ เบลเยียมได้ถูกกองทัพเยอรมันเข้ายึดครอง หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เบลเยียมได้ร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างแข็งขันกับประเทศแผ่นดินต่ำอื่น ๆ จนในที่สุดได้ประสบความสำเร็จในการก่อตั้งสหภาพเศรษฐกิจเบเนลักซ์ (Benelux Economic Union) ซึ่งเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งตลาดร่วมยุโรป (Common Market) หรือประชาคมเศรษฐกิจยุโรป(European Economic Community - EEC) ที่ได้พัฒนาเป็นสหภาพยุโรป (EuropeanUnion - EU)
     เบลเยียมเป็นคำศัพท์ที่แผลงมาจากคำว่า เบลจี (Belgae) ซึ่งเป็นชื่อเรียกของชนเผ่าเคลต์ (Celt) เผ่าหนึ่งในอดีตที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ตั้งของเบลเยียมในปัจจุบัน จักรวรรดิโรมันได้เข้าครอบครองดินแดนนี้และอาณาบริเวณใกล้เคียงทั้งหมดเมื่อ ๕๗ ปีก่อนคริสต์ศักราช และจัดตั้งเป็นมณฑลกัลเลียเบลจิกา (GalliaBelgica) ซึ่งครอบคลุมบริเวณตั้งแต่ปากแม่น้ำสเกลเด (Schelde) ถึงแม่น้ำแซน(Seine) และจากช่องแคบโดเวอร์ (Dover) ถึงบริเวณทิวเขาโวช (Vosges) ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ ๔ ได้ตกอยู่ใต้ปกครองของอนารยชนเผ่าแฟรงก์ (Frank)หลังจากจักรวรรดิคาโรลินเจียน (Carolingian Empire) ของพวกแฟรงก์เสื่อมสลายลงในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๙ ดินแดนเบลเยียมได้ถูกรวมเข้ากับดัชชีลอร์แรนหรือโลทารินเจีย (Duchy of Lorraine หรือ Lotharingia) ซึ่งเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอาณาจักรแฟรงก์ตะวันออก นับแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๒ จนสิ้นสมัยกลาง (MiddleAges)ดินแดนเบลเยียมได้ถูกแบ่งแยกและตกเป็นส่วนหนึ่งของดัชชีบราบันต์ (Duchyof Brabant)ดัชชีลักเซมเบิร์ก (Duchy of Luxembourg) และสังฆมณฑลลีแอช(Bishopric of Liège) ในระยะเวลานี้เมืองต่าง ๆ ในเบลเยียมคืออีปร์ (Ypres) บรูซ(Bruges) และเกนต์ (Ghent) ได้อำนาจปกครองตนเองในระดับหนึ่งและเจริญมั่งคั่งจากการค้าขนสัตว์และผ้า ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ดุ็กแห่งเบอร์กันดี(Duke ofBurgundy) ได้ครอบครองพื้นที่เกือบทั้งหมดของเบลเยียมในปัจจุบัน
     ใน ค.ศ. ๑๔๗๗ แมรีแห่งเบอร์กันดี(Mary of Burgundy)พระธิดาของดุ็กชาลส์พระเศียรล้าน (Charles the Bold) ได้เสกสมรสกับอาร์ชดุ็กมักซีมีเลียน(Maximilian) แห่งราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ต่อมาเป็นจักรพรรดิมักซีมีเลียนที่ ๑(Maximilian I ค.ศ. ๑๔๙๓-๑๕๑๙) แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy RomanEmpire) การเสกสมรสดังกล่าวนี้ ทำให้ดินแดนส่วนหนึ่งที่มั่งคั่งของดัชชีเบอร์กันดีซึ่งเรียกว่า “เนเธอร์แลนด์ ”(ปัจจุบันนี้คือเนเธอร์แลนด์ และเบลเยียม) ตกเป็นของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ส่วนดัชชีเบอร์กันดีถูกพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๑ (Louis XI ค.ศ.๑๔๖๑-๑๔๘๓) แห่งฝรั่งเศส ยึดครองโดยอ้างสิทธิตามระบบฟิวดัล (feudalism) ในค.ศ. ๑๕๐๖อาร์ชดุ็กชาลส์ (Charles)พระราชนัดดาในจักรพรรดิมักซีมีเลียนที่ ๑ ทรงได้รับสิทธิในการครอบครอง “เนเธอร์แลนด์ ”ในฐานะทายาทของแมรีแห่งเบอร์กันดี
     ใน ค.ศ. ๑๕๑๖ อาร์ชดุ็กชาลส์ได้สืบราชบัลลังก์สเปน ต่อจากพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ (Ferdinand) และสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลา (Isabella) ซึ่งเป็นพระอัยกาและพระอัยยิกา และเฉลิมพระนามพระเจ้าชาลส์ที่ ๑ (Charles I ค.ศ.๑๕๑๖-๑๕๕๖) แห่งสเปน อีก ๒ ปีต่อมาก็ทรงสืบทอดพระราชอิสริยยศและราชสมบัติของราชวงศ์ฮับส์บูร์กในดินแดนเยอรมันในพระนามจักรพรรดิชาลส์ที่ ๕(Charles V ค.ศ. ๑๕๑๘-๑๕๕๖) แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ การสืบราชสมบัติสเปน ของพระองค์ก่อให้เกิดราชวงศ์ฮับส์บูร์กสายสเปน ขึ้น ซึ่งได้ปกครองสเปน ติดต่อกันจนถึง ค.ศ. ๑๗๐๐ ขณะเดียวกันก็ทำให้ “เนเธอร์แลนด์ ”ตกอยู่ใต้ปกครองของสเปน เป็นเวลาหลายร้อยปีด้วย
     ใน ค.ศ. ๑๕๔๘ จักรพรรดิชาลส์ที่ ๕ ทรงใช้พระราชอำนาจบีบบังคับสภาไดเอต (Diet) ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ให้ยอมรับว่า “ดินแดนรอบๆ เบอร์กันดี”(Circle of Burgundy) หรือ “เนเธอร์แลนด์ ”เป็นรัฐอิสระและอยู่นอกเหนืออำนาจทางการศาลและกฎหมายของจักรวรรดิ ในปีถัดมา พระองค์ก็ทรงออกพระราช-กฤษฎีกา ค.ศ. ๑๕๔๙ (Pragmatic Sanction of 1549) ให้รวม “เนเธอร์แลนด์ ”เข้ากับสเปน อย่างเป็นทางการและห้ามมิให้แบ่งแยกมณฑลทั้ง ๑๗ แห่งใน“เนเธอร์แลนด์ ”อย่างเด็ดขาด ใน ค.ศ. ๑๕๕๖พระเจ้าชาลส์ที่ ๑ แห่งสเปน หรือจักรพรรดิชาลส์ที่ ๕ แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ก็ทรงประกาศสละราชสมบัติสเปน ให้แก่พระเจ้าฟิลิปที่ ๒ (Philip II ค.ศ. ๑๕๕๖-๑๕๙๘)พระราชโอรสองค์โตและทรงมอบพระอิสริยยศจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และพระราช-สมบัติของราชวงศ์ฮับส์บูร์กในดินแดนเยอรมันแก่จักรพรรดิเฟอร์ดินานด์ที่ ๑(Ferdinand I ค.ศ. ๑๕๕๖-๑๕๖๔)พระอนุชา
     ในรัชสมัยพระเจ้าฟิลิปที่ ๒ “เนเธอร์แลนด์ ” ต้องเผชิญปัญหากับสเปน อันเกิดจากนโยบายทางการเมืองและการศาสนาอันเข้มงวดที่สเปน ต้องการเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงและต่อต้านการเผยแผ่คำสอนของคริสต์ศาสนานิกายกัลแวง(Calvin) ที่แพร่หลายอันเนื่องมาจากการปฏิรูปศาสนา (Reformation) ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ รัฐบาลสเปน ได้ส่งดุ็กแห่งอัลบา (Duke of Alva) ไปปกครอง“เนเธอร์แลนด์ ”อย่างกดขี่ ประชาชนจึงได้ลุกฮือขึ้นต่อต้านจนเกิดเป็นการกบฏและสงครามระหว่างสเปน กับ “เนเธอร์แลนด์ ” ระหว่าง ค.ศ. ๑๕๖๗-๑๕๗๙ ในค.ศ. ๑๕๗๙ มณฑล ๗ แห่งทางตอนเหนือซึ่งนับถือคริสต์ศาสนานิกายกัลแวงได้รวมตัวกันเป็นสหภาพแห่งยูเทรกต์ (Union of Utrecht) และประกาศอิสรภาพในอีก๒ ปีต่อมาโดยมีชื่อเรียกว่าสหมณฑล (United Provinces) หรือสหมณฑลแห่งเนเธอร์แลนด์ [(United Provinces of the Netherlands) ปัจจุบันคือราช-อาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ] และมีเจ้าชายวิลเลียมแห่งออเรนจ์ (William of Orange)เป็น “ประมุขรัฐ”(Stadholder) และเป็นตำแหน่งที่ทายาทและเชื้อสายของเจ้าชายวิลเลียมแห่งออเรนจ์ได้รับสิทธิในการสืบทอดต่อไปอย่างไรก็ดีสเปน ก็มิได้ยอมรับการแยกตัวของสหมณฑลจนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗
     ส่วนมณฑล ๑๐ แห่งทางภาคใต้ซึ่งคือดินแดนของราชอาณาจักรเบลเยียมในปัจจุบันที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกไม่ได้แยกตัวเป็นอิสระ แต่ยังคงอยู่ใต้การปกครองของสเปน ต่อไปและมีชื่อเรียกว่า “เนเธอร์แลนด์ ของสเปน ” (Spanish Netherlands) ใน ค.ศ. ๑๕๙๘ พระเจ้าฟิลิปที่ ๒ ได้พระราชทานเนเธอร์แลนด์ ของสเปน แก่อาร์ชดุ็กอัลเบิร์ตแห่งออสเตรีย (Albert ofAustria)พระชามาดา ใน ค.ศ. ๑๖๐๙อาร์ชดุ็กอัลเบิร์ตทรงทำสนธิสัญญาสงบศึกกับสหมณฑลเป็นเวลา ๑๒ ปี ช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ (ค.ศ. ๑๖๐๙-๑๖๒๑) บรรดาเมืองต่าง ๆ ในเนเธอร์แลนด์ ของสเปน หรือเบลเยียมได้เจริญมั่งคั่งขึ้นอีกครั้งหนึ่งและเป็นศูนย์กลางการค้าของยุโรปอย่างไรก็ดีหลังจากที่อาร์ชดุ็กอัลเบิร์ตสิ้นพระชนม์ลงใน ค.ศ. ๑๖๒๑ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สนธิสัญญาสงบศึกหมดอายุพอดี สงครามครั้งใหม่ระหว่างสเปน กับสหมณฑลก็เกิดขึ้นอีก อีกทั้งเบลเยียมก็กลับไปตกอยู่ใต้อำนาจปกครองของสเปน
     นับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงการปฏิวัติค.ศ. ๑๘๓๐ (Revolution of 1830) ที่เบลเยียมสามารถประกาศเอกราชได้นั้น ประวัติศาสตร์ของเบลเยียมเป็นเรื่องราวของการถูกมหาอำนาจต่าง ๆ ของยุโรปเข้ายึดครอง เบลเยียมเป็นดินแดนเป้าหมายของการแข่งขันอำนาจและการช่วงชิงกันระหว่างสเปน ฝรั่งเศส และอังกฤษรวมทั้งออสเตรีย ในเวลาต่อมา เมื่อสงครามสามสิบปี (Thirty Yearsû War ค.ศ.๑๖๑๘-๑๖๔๘) สิ้นสุดลง พระเจ้าฟิ ลิปที่ ๔ (Philip IV ค.ศ. ๑๖๒๑-๑๖๖๕)แห่งสเปน ต้องยอมยกดินแดนบางส่วนของเบลเยียมให้แก่สหมณฑลตามข้อตกลงในสนธิสัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลีย (Peace Treaty of Westphalia ค.ศ. ๑๖๔๘)ต่อมาเบลเยียมก็ได้สูญเสียเมืองดันเคิร์ก (Dunkirk) ให้แก่อังกฤษและดินแดนอีกจำนวนหนึ่งให้แก่ฝรั่งเศส ตามข้อตกลงในสนธิสัญญาพิเรนีส (Treaty of Pyreneesค.ศ. ๑๖๕๙) และเสียดินแดนเพิ่มขึ้นอีกให้แก่ฝรั่งเศส ตามสนธิสัญญาแอกซ์-ลา-ชาแปล (Treaty of Aix-la-Chapelle ค.ศ. ๑๖๖๘) และสนธิสัญญาเนเมเกน(Treaty of Nijmegan ค.ศ. ๑๖๗๘) แต่เบลเยียมก็ได้ดินแดนบางส่วนกลับคืนมาจากฝรั่งเศส ในภายหลังตามสนธิสัญญาริสวิก (Treaty of Ryswich ค.ศ. ๑๖๙๗)
     ใน ค.ศ. ๑๗๑๔ หลังสงครามการสืบราชบัลลังก์สเปน (War of theSpanish Succession ค.ศ. ๑๗๐๑-๑๗๑๓) สิ้นสุดลง มหาอำนาจยุโรปได้ร่วมกันทำสนธิสัญญายู เทรกต์ (Treaty of Utrecht) โดยให้เจ้าชายฟิลิป เคานต์แห่งอองชู(Philip, Count of Anjou) ซึ่งในขณะนั้นได้ทรงครองราชบัลลังก์สเปน เป็นพระเจ้าฟิลิปที่ ๕ (Philip V ค.ศ. ๑๗๐๐-๑๗๒๔, ค.ศ. ๑๗๒๔-๑๗๔๖) ปกครองสเปน ต่อไปพระเจ้าฟิลิปที่ ๕ ทรงเป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ (Louis XIV ค.ศ. ๑๖๔๓-๑๗๑๕) กษัตริย์ฝรั่งเศส แห่งราชวงศ์บูร์บง (Bourbon) และสมเด็จพระราชินีมาเรียเทเรซา (Maria Teresa)พระราชธิดาของพระเจ้าฟิลิปที่ ๔ แห่งสเปน การรับรองให้พระเจ้าฟิลิปที่ ๕ เป็นกษัตริย์ของสเปน ดังกล่าวนี้จึงเป็นการประดิษฐานราชวงศ์บูร์บงสายสเปน ขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการยุติบทบาทของราชวงศ์ฮับส์บูร์กที่ปกครองสเปน มาเป็นเวลาร่วม ๒๐๐ ปีดังนั้นเพื่อเป็นการชดเชยให้แก่ราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ข้อตกลงอีกประการหนึ่งของสนธิสัญญายูเทรกต์จึงให้เนเธอร์แลนด์ ของสเปน หรือเบลเยียมอยู่ใต้ปกครองของออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ ของสเปน จึงได้รับชื่อใหม่ว่า “เนเธอร์แลนด์ ของออสเตรีย ”(Austrian Netherlands)
     หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) ค.ศ. ๑๗๘๙ ชาวเบลเยียมได้ถือโอกาสก่อกบฏและขับไล่ทหารออสเตรีย ออกจากดินแดนและสถาปนาระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐขึ้นเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ค.ศ. ๑๗๙๐ อย่างไรก็ดีการปกครองในระบอบสาธารณรัฐก็ประสบความสำเร็จในระยะเวลาสั้น ๆ เพราะในเดือนธันวาคมศกเดียวกัน กองทัพออสเตรีย ก็สามารถยึดครองเบลเยียมได้ ระหว่างสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars ค.ศ. ๑๗๙๒-๑๘๐๒)เนเธอร์แลนด์ ของออสเตรีย หรือเบลเยียมได้ถูกกองทัพเข้ายึดครองเป็นระยะๆ ในที่สุดก็ต้องตกเป็นของฝรั่งเศส ตามสนธิสัญญากัมโปฟอร์มีโอ (Treaty of CampoFormio ค.ศ. ๑๗๙๗) หลังจากที่กองทัพของนโปเลียน โบนาปาร์ต (NapoleonBonaparte) มีชัยชนะต่อออสเตรีย ในการรบในคาบสมุทรอิตาลี
     แม้ฝรั่งเศส จะช่วยปลดแอกเบลเยียมจากการปกครองของออสเตรีย และได้รับความชื่นชมอย่างมากจากชนชั้นกลาง แต่การปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจของฝรั่งเศส และการเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในสงครามของกองทัพฝรั่งเศส ก็ได้สร้างความไม่พอใจแก่ชาวเบลเยียมเป็นอันมากเช่นกัน นอกจากนี้ดินแดนบางส่วนของเบลเยียมยังกลายเป็นสมรภูมิระหว่างฝรั่งเศส กับประเทศสัมพันธมิตรอีกด้วย รวมทั้งการรบครั้งสุดท้ายของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑(Napoleon I) ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๕ ที่ตำบลวอเตอร์ลู (Waterloo) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงบรัสเซลส์
     ที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนา ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕ ได้ตกลงให้รวมเบลเยียมเข้ากับเนเธอร์แลนด์ และสถาปนาเป็นสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (UnitedKingdom of the Netherlands) เพื่อเป็นรัฐกันชนและปราการขวางกั้นการขยายอำนาจของฝรั่งเศส โดยมีพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ (William I) แห่งออเรนจ์เป็นกษัตริย์แม้ดินแดนทั้ง ๒ แห่งนี้จะเคยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานในอดีต แต่การแยกตัวออกจากกันตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ก็ทำให้ดินแดนทั้งสองต่างมีพัฒนาการทางสังคมที่แตกต่างกัน ชาวเบลเยียมซึ่งได้รับอิทธิพลของกระแสชาตินิยม (nationalism)และเสรีนิยม (liberalism) จากการปฏิวัติฝรั่งเศส และสงครามนโปเลียน(Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕) ต่างไม่พอใจที่จะอยู่ในการปกครองของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้ ชาวเบลเยียมส่วนหนึ่งยังรู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างตนกับชาวดัตช์ทั้งในด้านภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณีอาชีพ และโดยเฉพาะด้านศาสนาซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เบลเยียมไม่เข้าร่วมในสหมณฑลแห่งเนเธอร์แลนด์ มาแล้ว นอกจากนี้ รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ยังมีนโยบายทางด้านเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของชาวเบลเยียมอีกด้วย กล่าวคือ ขณะที่เบลเยียมประสบความสำเร็จในการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นแห่งแรกในภาคพื้นทวีปและชาวเบลเยียมมีอาชีพทางอุตสาหกรรมและต้องการให้กำหนดอัตราศุลกากรขาเข้าสูงเพื่อคุ้มครองผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แต่ชาวดัตช์มีอาชีพทางเกษตรกรรมและพาณิชยกรรม และสนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินนโยบายการค้าเสรียิ่งไปกว่านั้นชาวเบลเยียมยังได้รับสิทธิทางการเมืองน้อยกว่าชาวดัตช์โดยชาวเบลเยียมจำนวน ๓,๔๐๐,๐๐๐ คนมีผู้แทนในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเท่ากับชาวดัตช์ที่มีจำนวนเพียง ๒,๐๐๐,๐๐๐ คนอีกทั้งพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ยังมีนโยบายที่กีดกันมิให้ชาวเบลเยียมมีตำแหน่งสูงทางราชการ แม้แต่ในเขตของชาวเบลเยียม รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ยังส่งชาวดัตช์ไปดูแลและปกครองซึ่งสร้างความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งแก่ชาวเบลเยียม นอกจากนี้ รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ยังให้ชาวเบลเยียมใช้ภาษาดัตช์เป็นภาษาราชการและพยายามกีดกันไม่ให้โบสถ์คาทอลิกเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับด้านการศึกษาและการสอนหนังสือ
     ความรู้สึกของชาวเบลเยียมที่ต่อต้านรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ และชาวดัตช์ได้ทวีมากขึ้นเป็นลำดับ ใน ค.ศ. ๑๘๒๘ หลุยส์ เดอ โปเต (Louis de Potter)นักหนังสือพิมพ์ที่นิยมลัทธิเสรีนิยมได้จัดตั้งสหภาพแห่งการต่อต้าน (Union ofOpposition) ขึ้น อย่างไรก็ดี ชาวเบลเยียมก็ยังมิได้ดำเนินการรุนแรงใด ๆ ต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม (July Revolutionค.ศ. ๑๘๓๐) ในฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเหตุให้พระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ (Charles X ค.ศ. ๑๘๒๕-๑๘๓๐) ต้องเสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศ และหลุยส์ ฟิลิปดุ็กแห่งออร์เลออง (LouisPhilippe, Duke of Orl”ans) ได้ขึ้นครองราชสมบัติแทน เป็นพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป(Louis Philippe ค.ศ. ๑๘๓๐-๑๘๔๘) ความสำเร็จของการปฏิวัติเดือนกรกฎาคมในฝรั่งเศส กอปรกับการจัดแสดงอุปรากรปลุกความรู้สึกชาตินิยมในเบลเยียม เรื่องLa Muette de Portici ของโอแบร์ (Auber) ได้เป็นแรงดลใจและแรงกระตุ้นให้ชาวเบลเยียมลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ในวันที่ ๒๕ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๓๐เพื่อเรียกร้องให้แยกการบริหารเบลเยียมออกเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก และการจลาจลได้แพร่ออกไปตามเมืองต่าง ๆ ทั่วทั้งเบลเยียม
     รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ พยายามจะปราบปรามการจลาจลโดยให้กองทหารจำนวน ๑๔,๐๐๐ คน รักษาความสงบในกรุงบรัสเซลส์ ซึ่งเท่ากับเป็นการยั่วยุให้ชาวเบลเยียมใช้ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนในที่สุดได้เกิดเป็นการต่อสู้อย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายทหารกับประชาชนเบลเยียม และกลายเป็นการก่อการปฏิวัติเพื่อล้มล้างอำนาจปกครองของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ในวันที่ ๒๕ กันยายน ฝ่ายปฏิวัติได้จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้น และอีก ๒ วันต่อมาก็สามารถขับกองกำลังของเนเธอร์แลนด์ ออกจากกรุงบรัสเซลส์ได้ในวันที่ ๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๓๐ รัฐบาลชั่วคราวก็ประกาศสถาปนาเบลเยียมเป็นรัฐเอกราช
     ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๓๐ ผู้แทนของประเทศมหาอำนาจที่มีบทบาทสำคัญในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕อันได้แก่ออสเตรีย ปรัสเซีย รัสเซีย และอังกฤษ ได้มาประชุมที่กรุงลอนดอนเพื่อพิจารณาปัญหานี้ ที่ประชุมเห็นว่าการจัดตั้งสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เป็นเรื่องที่จบสิ้นไปแล้ว (faitaccompli) ส่วนในด้านปัญหาของเบลเยียม ต่างก็ยอมรับรองเอกราชและการสถาปนาเบลเยียมเป็นราชอาณาจักร แต่ที่ประชุมก็ไม่สามารถตกลงกันได้ในการเลือกผู้ที่เหมาะสมมาเป็นกษัตริย์
     รัฐธรรมนูญของเบลเยียมซึ่งประกาศใช้ใน ค.ศ. ๑๘๓๑ ได้ตัดสิทธิ์ สมาชิกทุกพระองค์ของราชวงศ์นัสเซา (Nassau) ที่ปกครองเนเธอร์แลนด์ มาเป็นประมุขของเบลเยียม รวมทั้งเจ้าชายแห่งออเรนจ์ (Prince of Orange) ซึ่งชาวเบลเยียมชื่นชอบด้วย ในตอนแรก ชาวเบลเยียมต้องการเลือกดุ็กแห่งเนอมูร์ (Duke of Nemours)พระราชโอรสองค์ที่ ๒ ในพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปแห่งฝรั่งเศส เป็นกษัตริย์ของเบลเยียม แต่ถูกมหาอำนาจอื่น ๆ คัดค้านเพราะเกรงว่าเบลเยียมจะตกเป็นของฝรั่งเศส ในอนาคต ในที่สุด ชาวเบลเยียมก็เลือกเจ้าชายเลโอโปลด์ (Leopold) แห่งราชสกุลซักซ์-โคบูร์ก-โกทา-ซาลเฟลด์ (Saxe-Coburg-Gotha-Saalfeld) พระสวามีม่ายในเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ (Charlotte สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. ๑๘๑๗) มกุฎราชกุมารีแห่งอังกฤษ เป็นกษัตริย์แห่งเบลเยียมในพระนามพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๑ (Leopold Iค.ศ. ๑๘๓๑-๑๘๖๕) [(เจ้าหญิงชาร์ลอตต์เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าจอร์จที่ ๔(George IV ค.ศ. ๑๘๒๐-๑๘๓๐) และพระนางแคโรลีน (Caroline)] ต่อมาในค.ศ. ๑๘๓๒ พระเจ้าเลโอโปลด์ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงหลุยส์ (Louis)พระราชธิดาในพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปแห่งฝรั่งเศส
     ใน ค.ศ. ๑๘๓๑พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ แห่งเนเธอร์แลนด์ ซึ่งทรงปฏิเสธมติของที่ประชุมแห่งลอนดอนที่รับรองให้เบลเยียมเป็นเอกราช ได้ส่งกองกำลังเข้าโจมตีเบลเยียมอีกครั้ง แต่ได้ถูกกองทัพฝรั่งเศส เข้าสกัดกั้นจนต้องล่าถอยไป ปัญหาระหว่างเนเธอร์แลนด์ กับเบลเยียมได้ยึดเยื้อต่อไปอีกหลายปี ในที่สุด ทั้ง ๒ ประเทศก็ยินยอมยุติปัญหาโดยยอมทำสนธิสัญญาสงบศึกต่อกันในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๓๙เบลเยียมได้รับดินแดนครึ่งหนึ่งทางทิศตะวันตกของแกรนด์ดัชชีลักเซมเบิร์ก แต่ต้องยกเมืองลิมเบิร์ก (Limburg) และมาสตริกต์ (Maastricht) แก่เนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้ มหาอำนาจยุโรปยังได้ยึนยันความเป็นเอกราชและรับประกัน “ความเป็นกลางอย่างถาวร”(permanent neutrality) ของเบลเยียมอีกด้วย
     ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ การอุตสาหกรรมของเบลเยียมได้เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น จนเบลเยียมกลายเป็นประเทศส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ และเมืองแอนต์เวิร์ป (Antwerp) ได้เป็นเมืองท่าที่พลุกพล่านมากที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป นอกจากนี้ ในรัชสมัยของพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๒ (Leopold IIค.ศ. ๑๘๖๕-๑๙๐๙) เบลเยียมยังได้เข้ายึดครองดินแดนในทวีปแอฟริกา และจัดตั้งเป็นรัฐอิสระคองโก (Congo Free State) ใน ค.ศ. ๑๘๘๕ โดยอยู่ใต้พระราชอำนาจโดยตรงของกษัตริย์เบลเยียมพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๒ ทรงเป็น “กษัตริย์นักธุรกิจ”และทรงใช้นโยบายกดขี่และทารุณชาวพื้นเมืองคองโกเพื่อผลประโยชน์ในการสะสมพระราชทรัพย์จากวิสาหกิจหลายแห่งจนเป็นที่ิวพากษ์วิจารณ์ของนานาประเทศ ในค.ศ. ๑๙๐๗ รัฐสภาเบลเยียมซึ่งต้องการจะยุติข้อครหาต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบถึงพระเกียรติยศและเกียรติภูมิของประเทศ จึงบีบบังคับให้พระองค์ให้ความเห็นชอบในการผนวกรัฐอิสระคองโกเข้าเป็นอาณานิคมของประเทศและอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเบลเยียม การผนวกอาณานิคมคองโกดังกล่าวทำให้เบลเยียมมีอาณานิคมที่มีพื้นที่กว้างขวางและมีขนาดใหญ่กว่าประเทศแม่ถึง ๘๐ เท่า
     เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ (ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘) “ความเป็นกลางอย่างถาวร” ของเบลเยียมได้ถูกเยอรมนี ละเมิดโดยส่งกองกำลังเข้ารุกรานเมื่อวันที่ ๔สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔พระเจ้าอัลเบิร์ตที่ ๑ (Albert I ค.ศ. ๑๙๐๙-๑๙๓๔) ทรงขอความช่วยเหลือไปยังประเทศมหาอำนาจคืออังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย ที่ต่างเคยร่วมกันค้ำประกันความเป็นกลางของเบลเยียมใน ค.ศ. ๑๘๓๙ อังกฤษได้ตอบโต้เยอรมนี โดยยื่นคำขาดให้กองทัพเยอรมันถอนกำลังจากเบลเยียม แต่ไม่ประสบความสำเร็จอังกฤษจึงประกาศสงครามกับเยอรมนี ทันทีและเข้ารบในสงครามโลกครั้งที่ ๑
     กองทัพเบลเยียมได้ต่อสู้กับกองทัพเยอรมันอย่างกล้าหาญ แต่ก็ไม่อาจต่อต้านการยึดครองของเยอรมนี ได้ ในปลายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๔ มีเพียง๓ เมืองเท่านั้นในเบลเยียมที่ปลอดจากการยึดครองของกองกำลังเยอรมัน ที่เหลือต้องยอมจำนนและถูกเยอรมนี เข้ายึดครองโรงงานอุตสาหกรรม เหมืองแร่ และเขตเกษตรกรรมเกือบตลอดระยะเวลาของสงคราม การยึดครองของกองทัพเยอรมันทำให้เบลเยียมต้องยุติการส่งสินค้าออกซึ่งได้สร้างความเสียหายให้แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นอันมาก โรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากต้องลดกำลังผลิตหรือถูกปิดอันก่อให้เกิดภาวะการว่างงานโดยทั่วไป นอกจากนี้ เยอรมนี ยังพยายามที่จะเกณท์แรงงานชาวเบลเยียมเพื่อใช้ประโยชน์ในกองทัพและประเทศเยอรมนี อีกด้วย ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ เยอรมนี ได้ออกประกาศลงโทษอย่างรุนแรงแก่ชาวเบลเยียมที่ปฏิเสธที่จะทำงานให้แก่ฝ่ายเยอรมัน ขณะเดียวกัน รัฐบาลเยอรมันก็ได้ส่งคณะเจ้าหน้าที่เข้ามากำกับการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรกลต่าง ๆ ตามโรงงานอุตสาหกรรมทั่วทั้งประเทศเพื่อส่งไปใช้ประโยชน์ในเยอรมนี ส่วนเครื่องจักรกลใดที่มีขนาดใหญ่หรือไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ รวมทั้งที่ไม่มีประโยชน์ต่อกองทัพเยอรมันหรือประเทศเยอรมนี ก็จะถูกทำลายจนหมดสิ้น นับแต่ฝ่ายเยอรมันเข้ายึดครองประเทศจนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๘ โรงงานอุตสาหกรรมในเบลเยียมถูกทำลายอย่างราบคาบจำนวน ๑๖๗ แห่ง และอยู่ในบัญชีที่จะต้องถูกทำลายต่อไปอีก ๑๖๑ แห่ง นอกจากนี้ เตาหลอมเหล็กขนาดใหญ่จำนวน ๒๖ เตาจากจำนวนทั้งหมด๕๗ เตาก็ถูกทำลายเป็นเศษเหล็ก และอีก ๒๐ เตาถูกทำลายจนใช้การไม่ได้อีกต่อไปยิ่งไปกว่านั้น ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ กองทัพเยอรมันยังสั่งห้ามหน่วยราชการท้องถิ่นว่าจ้างชาวเบลเยียมทำงานสาธารณูปโภคต่าง ๆ และแรงงานชายที่แข็งแรงและมีอายุระหว่าง ๑๗-๖๐ ปีก็จะถูกฝ่ายเยอรมันเกณฑ์ไปสร้างทางรถไฟที่แนวรบด้านแม่น้ำอีแซร์ (Yser) และแนวรบทางตอนเหนือของฝรั่งเศส แรงงานบางส่วนถูกส่งไปทำงานในโรงงานและค่ายทหารในเยอรมนี พลเมืองชาวเบลเยียมที่ถูกเกณฑ์ไปทำงานในแนวรบและในเยอรมนี มีจำนวน ๕๗,๕๔๑ คน และ ๕๗,๗๑๘ คนตามลำดับ เบลเยียมได้รับการปลดปล่อยโดยกองกำลังของฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อวันที่๒๘ กันยายน ค.ศ. ๑๙๑๘ สงครามทำให้พลเมืองและทหารเบลเยียมเสียชีวิตรวมกันกว่า ๘๐,๐๐๐ คน
     สนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles ค.ศ. ๑๙๑๙) ได้ชดเชยค่าเสียหายให้แก่เบลเยียม โดยเยอรมนี ต้องสูญเสียเมืองออยเพิน (Eupen) เมืองมัลเมดี(Malmedy) และเมืองมอแรสเน (Moresnet) แก่เบลเยียม รวมเนื้อที่ ๙๘๙.๓ตารางกิโลเมตร และประชากร ๖๔,๕๐๐ คน ต่อมาข้อตกลงของประเทศมหาอำนาจในสนธิสัญญาโลคาร์โน (Treaties of Locarno ค.ศ. ๑๙๒๕) ยังค้ำประกันความมั่นคงของเบลเยียมโดยฝรั่งเศส และอังกฤษจะช่วยเหลือเบลเยียมในทันทีหากถูกกองทัพเยอรมันรุกรานอีก นอกจากนั้น เบลเยียมยังประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการฟื้นฟูบูรณะประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ รวมทั้งสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็ว ในปลาย ค.ศ. ๑๙๒๒ โรงงานอุตสาหกรรมก็สามารถเพิ่มจำนวนและกำลังผลิตได้เท่ากับภาวะปรกติก่อนสงคราม ส่วนการค้าก็มีปริมาณมากขึ้นเช่นเดียวกัน
     เบลเยียมถูกเยอรมนี ละเมิดความเป็นกลางอีกครั้งในสงครามโลกครั้งที่ ๒กองทัพเยอรมันได้เข้ารุกรานโดยปราศจากการเตือนล่วงหน้าเมื่อวันที่ ๑๐พฤษภาคมค.ศ. ๑๙๔๐ สนามบิน สถานีรถไฟ และการสื่อสารต่าง ๆ ถูกระเบิดและทำลายในวันที่ ๒๖ พฤษภาคมกองกำลังร่วมของอังกฤษ ฝรั่งเศส และเบลเยียมได้ถูกกองทัพเยอรมันโจมตีจนต้องล่าถอยไปติดทะเลเหนือ อีก ๒ วันต่อมา พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ (Leopold III ค.ศ. ๑๙๓๔-๑๙๕๑) ทรงจำต้องยอมแพ้โดยปราศจากเงื่อนไข และทรงถูกจับเป็นเชลยสงครามและถูกกักบริเวณ ณ ปราสาทที่เมืองลาเคน(Laeken)
     อย่างไรก็ดีคณะรัฐมนตรีเบลเยียมซึ่งมีอูแบร์ ปี แยร์โล (Hubert Pierlot)เป็นผู้นำได้ไปประชุมกันที่กรุงปารีสและปฏิเสธที่จะยอมรับข้อตกลงของพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ กับเยอรมนี อีกทั้งยังประกาศให้การกระทำของพระองค์เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ต่อมาในวันที่ ๓๐พฤษภาคม รัฐบาลเบลเยียมยังได้ลงมติถอดถอนพระราชอำนาจทั้งปวงของพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ รวมทั้งสิทธิในการปกครองซึ่งรัฐสภาแห่งเบลเยียมก็ให้การสนับสนุนคำตัดสินของรัฐบาลเป็นอย่างดี ในวันที่ ๒๒ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่กรุงลอนดอนเพื่อประสานกับฝ่ายพันธมิตรในการต่อต้านและต่อสู้กับฝ่ายเยอรมันเบลเยียมได้ถูกเยอรมันเข้ายึดครองเป็นเวลา ๔ ปี ในต้นเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๔พื้นที่บางส่วนก็ได้รับการปลดปล่อยจากกองกำลังฝ่ายพันธมิตร และในวันที่ ๘ กันยายนนายกรัฐมนตรีปีแยร์โลและคณะรัฐมนตรีพลัดถิ่นก็สามารถเดินทางกลับไปยังกรุงบรัสเซลส์ได้ ส่วนพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ และพระราชวงศ์ถูกกองกำลังเยอรมันนำเสด็จออกนอกประเทศไปประทับยังเยอรมนี ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔ รัฐสภาเบลเยียมจึงได้เลือกเจ้าชายชาลส์ (Charles) พระอนุชาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
     หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ ต้องเสด็จลี้ภัยไปประทับที่สวิตเซอร์แลนด์ต่อไปเป็นเวลาอีกหลายปี เนื่องจากถูกรัฐบาลตั้งข้อหาทรยศพระองค์เสด็จกลับเบลเยียมเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๕๐ ภายหลังการลงประชามติให้กลับมาครองราชย์ต่อโดยได้รับเสียงสนับสนุนร้อยละ ๕๗.๗ และเสียงจากรัฐสภา ๑๙๘ : ๐อย่างไรก็ดีชาวเบลเยียมจำนวนมากได้ก่อการจลาจลตามเมืองต่าง ๆ เพื่อต่อต้านพระองค์ซึ่งทำให้พระองค์ตัดสินพระทัยมอบพระราชอำนาจแก่เจ้าชายโบดวง (Baudouin)พระราชโอรสพระชนมายุ ๑๙พรรษา ต่อมาในวันที่ ๑๖กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๕๑ ก็ทรงประกาศสละราชสมบัติแก่เจ้าชายโบดวง ซึ่งในวันรุ่งขึ้น ก็ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติในพระนามพระเจ้าโบดวง (Baudouinค.ศ. ๑๙๕๑-๑๙๙๓) การแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองของพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ ๓ดังกล่าวนี้จึงนับเป็นการประนีประนอมอย่างดียิ่ง และทำให้เบลเยียมในต้นทศวรรษ๑๙๕๐ยังคงเป็นราชอาณาจักร ๑ ใน ๖ ของยุโรปตะวันตก (อังกฤษ สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ ) ภายหลังสงครามที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข [ปัจจุบันมี ๗ ประเทศ โดยในค.ศ. ๑๙๗๕ หลังจากนายพลฟรานซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco) ผู้นำของสเปน ได้ถึงแก่อสัญกรรม ได้มีการฟื้นฟูระบบกษัตริย์ขึ้นมาอีกครั้งและคณะรัฐบาลได้ทูลเชิญเจ้าชายฮวน การ์โลส (Juan Carlos)พระราชนัดดาในพระเจ้าอัลฟอนโซที่ ๑๓ (Alfonso XIII) ขึ้นครองราชบัลลังก์สเปน ทรงพระนามว่าพระเจ้าฮวน การ์โลส]
     แม้เบลเยียมจะได้รับความเสียหายในสงครามโลกครั้งที่ ๒ น้อยกว่าในสงครามโลกครั้งที่ ๑ แต่เบลเยียมก็ต้องสูญเสียโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากอันเป็นผลจากการสู้รบระหว่างเยอรมนี กับฝ่ายพันธมิตรเพื่อยึดครองเบลเยียมเป็นศูนย์ปฏิบัติการทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ นอกจากนี้ ในเวลาต่อมาเบลเยียมยังต้องสูญเสียอาณานิคมคองโกซึ่งเป็นอาณานิคมขนาดใหญ่ในทวีปแอฟริกาที่เป็นทั้งแหล่งวัตถุดิบ แหล่งการลงทุน และแหล่งอาหารที่สำคัญของประเทศ หลังสงครามยุติลงคองโกได้รับสิทธิในการกำหนดนโยบายการปกครองและเศรษฐกิจของตนเองมากขึ้นเป็นลำดับจนท้ายที่สุดก็ได้รับอำนาจอธิปไตยอย่างสมบูรณ์จากเบลเยียมใน ค.ศ. ๑๙๖๐และเรียกชื่อว่าประเทศซาอีร์ (Zaire) [ปัจจุบันคือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก(Democratic Republic of Congo)]อย่างไรก็ดีในช่วงปลายทศวรรษ ๑๙๔๐ และช่วงต้นทศวรรษ ๑๙๕๐ ขณะที่คองโกยังไม่ได้รับสิทธิปกครองตนเองอย่างเต็มที่รัฐบาลเบลเยียมได้เข้าไปควบคุมการทำเหมืองทองแดงและเหมืองเพชรตลอดจนอุตสาหกรรมการผลิตยางในคองโก ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ ทรัพยากรธรรมชาติของคองโกก็ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยพยุงและแก้ไขภาวะเศรษฐกิจที่ทรุดตัวจากผลของสงครามไปได้
     นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจของเบลเยียมโดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้านได้มีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูบูรณะสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศจากผลของสงครามด้วย กล่าวคือ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒จะยุติลง เบลเยียมได้เข้าประชุมว่าด้วยศุลกากรที่กรุงลอนดอนเมื่อวันที่ ๕ กันยายนค.ศ. ๑๙๔๔ และได้ร่วมลงนามกับเนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก เพื่อจัดตั้งสหภาพศุลกากรขึ้นโดยตกลงที่จะเก็บภาษีอากรในระบบเดียวกันเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาและฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยในระหว่างสงคราม ความร่วมมือของ ๓ ประเทศหรือกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ดังกล่าวนี้ได้ขยายขอบเขตเป็นสหภาพเศรษฐกิจเบเนลักซ์ใน ค.ศ. ๑๙๖๐ โดยประเทศสมาชิกทั้งสามได้เปิดเป็นตลาดแรงงานสากลเสรีและกำหนดอัตราค่าไปรษณีย์และค่าคมนาคมขนส่งในอัตราเดียวกัน ตลอดจนยกเลิกการตรวจคนเข้าเมืองและการควบคุมพรมแดนที่ติดต่อกัน นอกจากนี้ เบลเยียมพร้อมด้วยประเทศสมาชิกของกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ยังเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งและเป็นสมาชิกแรกเริ่มขององค์การว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่นๆของนานาประเทศยุโรปตะวันตก ได้แก่ ประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรป(European Coal and Steel Community - ECSC) ใน ค.ศ. ๑๙๕๒ และประชาคมเศรษฐกิจแห่งยุโรปหรือตลาดร่วมใน ค.ศ. ๑๙๕๘ ซึ่งต่อมาได้ขยายขอบเขตความร่วมมือและประเทศสมาชิกเป็นสหภาพยุโรป ในระยะเวลาเดียวกันเบลเยียมยกเลิกนโยบายเป็นกลางและเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization - NATO) ในค.ศ. ๑๙๔๙ และประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรปหรือยูราตอม (European AtomicEnergy Community - EURATOM) ใน ค.ศ. ๑๙๕๘
     ในทศวรรษ ๑๙๖๐ เบลเยียมได้เผชิญกับปัญหาความขัดแย้งภายในระหว่างพลเมืองที่พูดภาษาดัตช์กับชาววัลลูนที่พูดภาษาฝรั่งเศส รัฐสภาเบลเยียมพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้โดยการออกพระราชบัญญัติใน ค.ศ. ๑๙๖๓ ให้ภาษาเฟลมิชเป็นภาษาราชการในภาคเหนือ ภาษาฝรั่งเศส เป็นภาษาราชการในภาคใต้และภาษาเยอรมันเป็นภาษาราชการตามพรมแดนด้านตะวันออกตามลำดับ ส่วนในกรุงบรัสเซลส์และเขตปริมณฑลก็ให้ใช้ทั้งภาษาเฟลมิชและภาษาฝรั่งเศส ต่อมา ในค.ศ. ๑๙๗๑ มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเบลเยียมกำหนดให้ภาษาทั้งสามเป็นภาษาราชการอีกทั้งยังกำหนดความทัดเทียมกันในด้านวัฒนธรรมและการเมืองของชนกลุ่มต่าง ๆและให้อำนาจการปกครองท้องถิ่นมากขึ้น
     อย่างไรก็ดี ก่อนมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เบลเยียมก็ต้องเผชิญกับความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างพวกเฟลมิชกับพวกวัลลูนจนเกิดเป็นการจลาจลขึ้นในค.ศ. ๑๙๖๘ และความปั่นป่วนทางการเมืองที่ติดตามมาในภายหลัง มีการจัดตั้งรัฐบาลผสมหลายชุดในทศวรรษ ๑๙๗๐ และ ๑๙๘๐ เพื่อแก้ไขปัญหาระหว่างชาวเฟลมิชกับชาววัลลูน ในที่สุด ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบของการปกครองเป็นแบบสมาพันธรัฐที่ให้อำนาจแคว้น (region) ปกครองตนเองอย่างเป็นอิสระ ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๙๓ รัฐก็ได้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้สถาปนาระบอบการปกครองเบลเยียมเป็นแบบสหพันธรัฐ-ราชอาณาจักร (federal-kingdom)ประกอบด้วยแคว้นแฟลนเดอส์ (Flanders) วัลโลเนีย (Wallonia) และบรัสเซลส์แคว้นทั้งสามและพลเมืองที่พูดภาษาแตกต่างกันทั้ง ๓ กลุ่มมีสภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง (Reginal Assembly) และมีองค์กรบริหารของแคว้น (reginal administration)รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม บ้านพัก การคมนาคมขนส่ง และงานสาธารณูปโภคต่าง ๆ ส่วนการกำหนดนโยบายการศึกษาและวัฒนธรรมเป็นหน้าที่ขององค์กรบริหารชุมชนภาษา (language community administration) ของแต่ละท้องถิ่น
     ในต้น ค.ศ. ๑๙๙๓ เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่สืบเนื่องจากรัฐสภาผ่านพระราชบัญญัติว่าด้วยการทำแท้ง แต่พระเจ้าโบดวงทรงปฏิเสธที่จะให้ความเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วยเหตุผลว่าเป็นการขัดต่อความเชื่อในคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกที่ทรงนับถือ ความขัดแย้งระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับรัฐสภาได้นำไปสู่การใช้อำนาจของรัฐสภาในมาตรา ๘๒ ของรัฐธรรมนูญถอดถอนกษัตริย์ออกจากราชบัลลังก์เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ค.ศ. ๑๙๙๓ ซึ่งทำให้รัฐสภาสามารถลงนามร่างพระราชบัญญัติเพื่อประกาศเป็นกฎหมายได้ อย่างไรก็ตามหลังพระเจ้าโบดวงสละราชย์ได้ ๑ วัน ในวันที่ ๕ เมษายน รัฐสภาก็ลงคะแนนเสียง๒๔๕ : ๐อัญเชิญพระเจ้าโบดวงกลับมาเป็นประมุขของประเทศอีก ผลสำคัญของวิกฤตการณ์ครั้งนี้คือ รัฐสภาถูกวิพากษ์โจมตีในการนำมาตรา ๘๒ มาใช้อย่างไม่เหมาะสม เพราะการถอดถอนกษัตริย์ควรเป็นแต่เฉพาะการไร้ประสิทธิภาพทางร่างกายและจิตใจ ไม่ควรเป็นประเด็นทางศีลธรรม ขณะเดียวกันการแสดงความศรัทธาและจุดยืนของพระเจ้าโบดวงในปัญหาเรื่องการทำแท้งครั้งนี้ก็ทำให้ชาวเบลเยียมที่เคร่งศาสนาต่างชื่นชมพระองค์อย่างมาก ในปี เดียวกันนี้เองพระเจ้าโบดวงเสด็จสวรรคตด้วยอาการพระหทัยวายขณะเสด็จไปพักผ่อนที่เมืองโมตรีล(Motril) ประเทศสเปน เจ้าชายอัลเบิร์ตพระอนุชาได้สืบราชสมบัติเป็นพระเจ้าอัลเบิร์ตที่ ๒ (Albert II ค.ศ. ๑๙๙๓ - ) และทรงมีฐานะเป็นกษัตริย์ของชาวเบลเยียม(King of the Belgians) นับเป็นประมุของค์ที่ ๖ ของราชวงศ์ซักซ์-โคบูร์ก-โกทาที่สืบราชสมบัติเบลเยียมอย่างต่อเนื่องนับแต่มีการสถาปนาราชอาณาจักรเบลเยียมในต้นทศวรรษ ๑๘๓๐
     ในต้นทศวรรษ ๒๐๐๐ รัฐบาลเบลเยียมซึ่งมีกาย เวอร์ฮอฟสตัดท์ (GuyVerhofstadt) เป็นนายกรัฐมนตรีพยายามดำเนินนโยบายสร้างความสัมพันธ์และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในประเทศระหว่างพวกเฟลมิชกับพวกวัลลูน และผลักดันกรุงบรัสเซลส์ให้มีสถานภาพเป็นเมืองสัญลักษณ์ของสหภาพยุโรปที่มีบรรยากาศอิสรเสรีและอบอุ่น ตลอดจนการจะให้มีการจัดตั้งสถาบันการดำเนินงานต่าง ๆที่เกี่ยวกับสหภาพยุโรปขึ้นในเบลเยียม ซึ่งรวมถึงสถาบันการศึกษาเรื่องสหภาพยุโรปด้วย ใน ค.ศ. ๒๐๐๓ รัฐบาลเบลเยียมได้ผ่านกฎหมายที่มีลักษณะเสรีหลายฉบับเป็นต้นว่ากฎหมายที่ยอมให้ชายหรือหญิงที่รักร่วมเพศแต่งงานกันได้ รวมทั้งกฎหมายที่ยอมให้แพทย์ปลิดชีพผู้ป่วยอย่างเมตตา หรือการการุณยฆาต (euthanasia)ได้ ตลอดจนขยายสิทธิการออกเสียงเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นให้แก่ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศด้วย.
     

ชื่อทางการ
ราชอาณาจักรเบลเยียม (Kingdom of Belgium)
เมืองหลวง
บรัสเซลส์ (Brussels)
เมืองสำคัญ
บรัสเซลส์ แอนต์เวิร์ปเกนต์ (Antwerpen) ลีแอช (Liege) และเกนต์ (Ghent)
ระบอบการปกครอง
สหพันธรัฐ-ราชอาณาจักร (federal-kingdom)
ประมุขของประเทศ
กษัตริย์
เนื้อที่
๓๐,๕๒๘ ตารางกิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ : ประเทศเนเธอร์แลนด์ทิศตะวันออก : ประเทศเยอรมนีและประเทศลักเซมเบิร์ก ทิศใต้ : ประเทศฝรั่งเศสทิศตะวันตก : ประเทศฝรั่งเศส และทะเลเหนือ
จำนวนประชากร
๑๐,๓๙๒,๒๒๖ คน (ค.ศ. ๒๐๐๗)
เชื้อชาติของประชากร
เฟลมิช (Flemish) ร้อยละ ๕๘ วัลลูน (Walloon) ร้อยละ ๓๑ และอื่น ๆ ร้อยละ ๑๑
ภาษา
ดัตช์ ฝรั่งเศส เยอรมัน
ศาสนา
คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกร้อยละ ๗๕ นิกายโปรเตสแตนต์ และ อื่น ๆ ร้อยละ ๒๕
เงินตรา
ยูโร
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
แหล่งอ้างอิง
สารานุกรมทวีปยุโรป